สัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคอาเซียนมีโอกาสที่ดีไม่ว่าจะเป็นพม่าซึ่งเป็นตลาดเปิดใหม่อินโดนีเซียประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจและจีดีพีใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ฟิลิปปินส์ที่มีการเติบโตเป็นอันดับที่สองของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าในโอกาสก็มีอุปสรรคที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายในหลายประเทศที่ยังไม่ชัดเจน
เมื่อแยกรายประเทศเริ่มจากอินโดนีเซีย ที่ผ่านมาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งคอนโดมิเนียมศูนย์การค้า และโรงแรม กำลังเติบโตอย่างมาก แต่มีข้อจำกัดเรื่องอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านที่สูงมาก การถือครองอสังหาริมทรัพย์ของต่างด้าว
สำหรับตลาดเวียดนาม ซึ่งร้อนแรงมากในช่วงปี 2543-2551 ปัจจุบันเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง ระบบสถาบันการเงินง่อนแง่น มีหนี้เสียมาก รอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟประสบภาวะดอกเบี้ยสูง เงินเฟ้อสูง ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรค แต่นักลงทุนก็ยังมองว่าน่าสนใจ
ขณะที่ ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พฤกษาเรียลเอสเตท มองว่า การทำธุรกิจในเวียดนามต้องสายป่านยาวมาก เพราะต้องยอมรับกับความเสี่ยงที่จะยังไม่ได้พัฒนาโครงการทันที
โทนี่ พิคอน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทคอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยกล่าวว่า พม่าเป็นตลาดที่น่าสนใจ แต่ยังวิเคราะห์ยากมาก เพราะยังมีเรื่องการเมืองซึ่งกฎหมายไม่ได้เลวร้าย แต่การปฏิบัติตามกฎหมายยังไม่ดีนัก ระบบการเงิน การธนาคารยังไม่เรียบร้อย
ด้าน มานพ พงศทัต อาจารย์ประจำภาควิชาเคหะการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เออีซีไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะเกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เกิดการรวมตัวของสหภาพยุโรป หรืออียู ซึ่งเออีซีต้องเอาโมเดลของอียูมาศึกษาข้อดีข้อเสีย ซึ่งหากถามว่าไทยได้ประโยชน์อย่างไรกับการเปิดเออีซี ต้องวิเคราะห์จุดเด่นของไทย ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ทำให้เป็นประโยชน์มาก อีกทั้งการลงทุนที่เปิดกว้างให้กับนักลงทุนทุกชนชาติเข้ามาลงทุน ทำให้ไทยเป็นประเทศต้นๆ ที่จะเนื้อหอมมากเมื่อเปิดเออีซี
ปัจจัยดังกล่าวทำให้ 2 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนทางฝั่งเอเชียเริ่มเข้ามาศึกษาตลาดในไทย เช่นจีน สิงคโปร์ เวียดนาม รัสเซีย โดยเริ่มเข้ามาในรูปแบบการให้บริการ หรือเข้ามาเป็นที่ปรึกษาการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะมีบทบาทมากหลังเปิดเออีซี
นอกจากนี้ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของเวียดนาม ที่เน้นทำตลาดคอนโดมิเนียมระดับล้านต้นๆ ก็เข้ามาศึกษาตลาดในไทยแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่เคลื่อนไหวชัดเจน เพราะยังติดข้อจำกัดต่างๆ ด้านกฎหมาย
ขณะเดียวกันการออกไปทำตลาดต่างประเทศ ก็เป็นสิ่งที่หลายบริษัทผู้ประกอบการไทยเริ่มแล้ว แต่ควรรวมกลุ่มกันไป และรัฐบาลควรสนับสนุนมากกว่านี้
ธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า การเปิดเออีซีจะทำให้ไทยต้องยอมเปิดกว้างให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นได้70% จากเดิมอยู่ที่ 49% จะเป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่อยากให้ต่างชาติเข้ามามากขึ้น อีกทั้งจะเป็นโอกาสของรายเล็กและรายกลางที่จะได้ต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนในไทย
การเปิดเออีซีจึงเป็นทั้งช่องทางให้นักลงทุนไทยออกไปหาตลาดใหม่ๆ ที่มีกำลังซื้อมากกว่า600 ล้านคน เช่นที่ต่างชาติก็สนใจเข้ามากินส่วนแบ่งตลาดในไทยเช่นกัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์